Monday, February 9, 2009

วิธีการเปรียบเทียบราคามาตรฐาน NGV กับราคาตลาดโลก

เอ็นจีวี:อยู่ดีไม่ว่าดี(3) วีระ ธีรภัทร
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : ผมอยากเรียนตามตรงว่า ค่อนข้างเห็นใจผู้เกี่ยวข้องทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการกับการตัดสินใจปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติอัด (ซีเอ็นจี) ที่เราเรียกขานกันติดปากว่าเอ็นจีวีครั้งนี้
ราคาเอ็นจีวีกิโลกรัมละ 8.50 บาท ที่กำลังจะปรับขึ้นเป็น 11 บาทนั้น ผมเข้าใจว่านอกจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้บริโภคเป็นคนจ่าย และรวมอยู่ในราคาขายปลีกไปเรียบร้อยแล้วนั้น
ไม่มีสิ่งที่แปลกปลอมที่เรียกว่า ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ภาษีเทศบาล เงินสมทบกองทุนน้ำมัน เงินสมทบกองทุนอนุรักษ์พลังงาน แฝงเร้นเป็นค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคเหมือนน้ำมันเบนซินและดีเซล
ราคาเอ็นจีวีที่ขายในปัจจุบันจึงเป็นแค่ผลรวมของ ค่าเนื้อก๊าซธรรมชาติ+ต้นทุนค่าสถานีบริการ+ค่าการตลาด+ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นสำคัญ
ประเด็นปัญหาของการกำหนดราคาขายเอ็นจีวีที่แตกต่างจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปและราคาก๊าซหุงต้มยังอยู่ตรงที่ว่า ไม่มีราคาอ้างอิง ให้ใช้ในการคำนวณราคาที่ต้องปรับขึ้นลงครับ
อันนี้เป็นเหตุแห่งปัญหาที่ภาครัฐจะต้องคิดอ่านแก้ไข ถ้าอยากให้เรื่องการกำหนดราคาเอ็นจีวีเรียบร้อยในอนาคต
ในปัจจุบันราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปเบนซิน-ดีเซล เราใช้ราคาตลาดโลกที่สิงคโปร์เป็นตัวอ้างอิง ในขณะที่ราคาก๊าซหุงต้มเราใช้ราคาของปิโตรมีนที่ซาอุดีอาระเบียเป็นตัวอ้างอิง ก่อนจะบวกรายการภาษีต่างๆ เงินสมทบกองทุนน้ำมันและค่าการตลาด
แต่ขอโทษเอ็นจีวีไม่มีราคาอ้างอิงที่เป็นทางการครับ
เราใช้มติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นแนวทางครับ กำหนดให้ราคาขายประกอบด้วย ต้นทุนก๊าซธรรมชาติ+ค่าการตลาด ผลจึงออกมาว่าให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กำหนดราคาขายปลีกในช่วงปี 2550-2551 กิโลกรัมละ 8.50 บาท และให้ปรับราคาเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเป็น ไม่เกิน 12 บาทต่อกิโลกรัม ในปี 2552 และเป็น ไม่เกิน 13 บาทต่อกิโลกรัม ในปี 2553
ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไปให้ขายตามต้นทุนจริง???
เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังไม่มีการยกเลิกมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติครั้งที่ 7/2550 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 ก็ต้องบอกว่าการดำเนินการของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการขอปรับราคาเอ็นจีวีที่กำลังดำเนินอยู่นี้เป็นเรื่องที่ถูกต้องครับ
ข้อมูลที่ควรทราบต่อไป ก็คือ ทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำข้อมูลภายในและมีการระบุว่าต้นทุนเนื้อก๊าซธรรมชาติในปัจจุบันตามโครงสร้างการกำหนดราคาคร่าวๆ ที่ผมแจงไปก่อนหน้านี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 8.15 บาท
ถ้าหากเป็นจริงตามนั้นการจำหน่ายเอ็นจีวีที่หน้าสถานีบริการในราคากิโลกรัมละ 8.50 บาท ต้องขาดทุนอย่างแน่นอน เพราะเมื่อบวกค่าขนส่งและค่าบริหารจัดการ โดยไม่ยังรวมเงินลงทุนสถานีบริการเข้าไปและหักส่วนที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่งให้รัฐออกไป
ขายราคานี้ยังไงๆ ปตท.ก็ต้องขาดทุนแน่นอน ไม่ว่าจะขายน้อยหรือขายมาก
แต่ด้วยเหตุที่ผมบอกว่าราคาก๊าซธรรมชาติที่ยกขึ้นมาลอยๆ ว่า เป็นต้นทุนเนื้อก๊าซกิโลกรัมละ 8.15 นั้นไม่มีที่มาที่ไปหรือราคาอ้างอิงให้เทียบเคียง
ผมก็เลยไปลองค้นหาข้อมูลราคาก๊าซธรรมชาติจากที่อื่นๆ พอได้ความว่า ราคาเอ็นจี (NG-Natural Gas) ในตลาดไนเม็กซ์ที่นิวยอร์ก หรือรู้จักกันในชื่อว่าเฮนรี่ฮับ (Henry-Hub) ซึ่งใช้อ้างอิงกันแพร่หลายเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันนั้น มีราคาเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 7.25-13.50 ดอลลาร์ต่อ 1 ล้านบีทียูในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ และลดลงมาถึงจุดต่ำสุดประมาณ 5.50 ดอลลาร์ต่อ 1 ล้านบีทียู ในขณะที่ราคาล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 5.70 ดอลลาร์ต่อ 1 ล้านบีทียู
ถ้าหากแปลงค่ากันง่ายๆ ว่า ค่าความร้อน 1 ล้านบีทียูคิดเป็นน้ำหนักเนื้อก๊าซได้ประมาณ 30 กิโลกรัม นั่นก็หมายความว่า ราคาเอ็นจีวีในตลาดโลกซึ่งพอจะใช้อ้างอิงได้ น่าจะตกประมาณตันละ 190 ดอลลาร์ หรือประมาณ 6,750 บาท หรือเท่ากับกิโลกรัมละ 6.75 บาทครับ
พอเห็นอะไรรางๆ มั้ยครับ
ทั้งหมดที่ผมพยายามไล่เรียงมาตามลำดับนั้น บอกอะไรครับ บอกให้รู้ว่าเรามีปัญหาเรื่องต้นทุนที่สูงกว่าตลาดโลก คำอธิบายว่าทำไมจากผู้ผลิตและผู้จำหน่ายในเรื่องนี้จึงสำคัญมาก
ต้นทุนแพงก็ขายแพงได้ ไม่ว่ากัน แต่ต้นทุนถูกขายแพงไป แบบนี้ไม่ถูกต้อง

No comments:

Post a Comment